การเป็น จป.หัวหน้างานที่ดีควรเป็นอย่างไร
การเป็นจป.หัวหน้างานกับการเป็นหัวหน้างานมีบทบาทหน้าที่ไม่ต่างกันมากนักเพราะการเป็นจป.หัวหน้างานก็ยังคงต้องทำหน้าที่ของหัวหน้างานเหมือนปกติทั่วไปแต่เพิ่มบทบาทในงานด้านความปลอดภัยเข้ามาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานในหน่วยงานที่ตนเองรับผิดชอบ
จป.หัวหน้างานคือใคร
จป.หัวหน้างาน หรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับหัวหน้างาน เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน โดยตำแหน่ง ซึ่งหากบุคคลนั้น มีตำแหน่งเป็นหัวหน้างาน ในสถานประกอบกิจการ ก็จะต้องได้รับการอบรม จป หัวหน้างาน หลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับหัวหน้างาน และขึ้นทะเบียนกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงจะถือว่า เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับหัวหน้างาน อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
จป.หัวหน้างาน มีหน้าที่อะไรบ้าง
จป.หัวหน้างาน ตามกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงานหรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565 มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
- กำกับดูแลลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ปฏิบัติตามคู่มือว่าด้วยความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ
- วิเคราะห์งานในหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อค้นหาความเสี่ยงหรืออันตรายเบื้องต้น จากการทำงานโดยอาจร่วมดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูงหรือระดับวิชาชีพ
- จัดทำคู่มือว่าด้วยความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของหน่วยงานที่ รับผิดชอบโดยร่วมดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูงหรือระดับวิชาชีพ เพื่อเสนอคณะกรรมการความปลอดภัยหรือนายจ้าง แล้วแต่กรณีและทบทวนคู่มือดังกล่าวตามที่นายจ้างกำหนด โดยนายจ้างต้องกำหนดให้มีการทบทวนอย่างน้อยทุก 6 เดือน
- สอนวิธีการปฏิบัติงานที่ถูกต้องแก่ลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน
- ตรวจสอบสภาพการทำงานของเครื่องจักรเครื่องมือและอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยก่อนลงมือปฏิบัติงานประจำวัน
- กำกับดูแลการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลของลูกจ้างในหน่วยงานที่รับผิดชอบ
- รายงานการประสบอันตราย การเจ็บป่วยหรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องจาก การทำงานของลูกจ้างต่อนายจ้างและแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูงหรือระดับวิชาชีพ สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีหน่วยงานความปลอดภัยให้แจ้งต่อหน่วยงานความปลอดภัยทันทีที่เกิดเหตุ
- ตรวจสอบหาสาเหตุการประสบอันตราย การเจ็บป่วยหรือการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ อันเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างร่วมกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูงหรือระดับวิชาชีพและรายงานผลการตรวจสอบ รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อนายจ้าง เพื่อป้องกันการเกิดเหตุโดยไม่ชักช้า
- ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมความปลอดภัยในการทำงาน
- ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานอื่นตามที่นายจ้างหรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารมอบหมาย
จป.หัวหน้างานที่ดีควรเป็นอย่างไร
การเป็น จป.หัวหน้างานที่ดี ไม่ต่างกับการเป็นหัวหน้าที่ดี เนื่องจาก จป.หัวหน้างาน ก็คือหัวหน้างานคนหนึ่งที่มีหน้าที่ในการกำกับ ดูแล ผู้ใต้บังคับบัญชา ให้สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดย จป.หัวหน้างานที่ดีควรมีคุณสมบัติดังนี้
-
มีความเป็นผู้นำ (Leadership)
ซึ่งความเป็นผู้นำ เป็นพื้นฐานของหัวหน้างานทุกคน แต่หากในฐานะ จป.หัวหน้างาน อาจจะต้องมีความเป็นผู้นำในเรื่องของความปลอดภัยให้มากขึ้น มีความเข้มงวดในเรื่องของกฎระเบียบ เพราะหากหัวหน้างานเข้มงวด ผู้ใต้บังคับบัญหาก็จะเข้มงวดตามไปด้วย
-
มีความยุติธรรม (Fair)
ความยุติธรรม คือ ความเสมอภาคในการตัดสินใจ หรือให้ความสำคัญกับคนใดหรือสิ่งใด โดยที่ไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งความยุติธรรมเป็นสิ่งที่หัวหน้างานทุกคนต้องมี เพื่อให้การตัดสินใจเป็นมาตรฐานเดียวกันกับพนักงานทุกคน
-
มีความรับผิดชอบ (Responsibility)
ความรับผิดชอบ เป็นคุณสมบัติที่ทุกคนต้องมี ไม่ว่าจะทำงานในตำแหน่ง หน้าที่อะไร แต่ความรับผิดชอบอาจแตกต่างกันไป ซึ่งความรับผิดชอบของ จป.หัวหน้างาน ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย รับผิดชอบต่อความปลอดภัยของพนักงานที่ตนเองดูแล เอาใจใส่ในหน้างานของตน หากพบเห็นจุดที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต้องรีบแก้ไข ปรับปรุง เพื่อป้องกันก่อนเกิดเหตุ
-
ทำงานเป็นระบบ (System)
การทำงานเป็นระบบ คือ การกำหนดขั้นตอนและวิธีปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม แล้วนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง ซึ่งการกำหนดขั้นตอนการทำงานที่ปลอดภัย ถือเป็นหน้าที่ของ จป.หัวหน้างาน ด้วยเช่นกัน
-
มีความสามารถในการแก้ไขปัญหา (Problem solving)
คือการจัดการกับสิ่งผิดปกติ หรือความบกพร่องที่เกิดขึ้น เพื่อลดความสูญเสียต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา โดยหลักการของการแก้ไขปัญหา คือ แก้ตรงต้นตอของปัญหา ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด และไม่มีปัญหาเกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งการแก้ปัญหา หรือการจัดการกับสิ่งผิดปกติ ยิ่งทำได้เร็วมากเท่าไหร่ ย่อมเกิดความปลอดภัยมากเท่านั้น
-
เปิดใจรับฟังความคิดเห็น (Open mind)
การเปิดใจรับฟังความคิดเห็น เป็นคุณสมบัติที่ดีของ จป.หัวหน้างาน เพราะในบางครั้งผู้ปฏิบัติงานอาจมีความคิดที่แตกต่างจากหัวหน้างาน ที่ต้องการปรับปรุงวิธีการทำงานให้ดีขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น หากหัวหน้างาน ไม่รับฟังความคิดของลูกน้อง อาจทำให้การทำงานร่วมกันมีปัญหา และการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นยังทำให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงตามมาด้วย
-
ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน (Support)
การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน คือ การมีน้ำใจ โอบอ้อมอารี การส่งเสริม ให้ผู้อื่นได้รับความสะดวกสบาย หรือมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การช่วยเหลือในการทำงานก็เช่นกัน ในฐานะหัวหน้างาน สามารถช่วยให้ลูกน้องทำงานได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และปลอดภัยมากขึ้น
-
พัฒนาสมาชิกในทีม (Team Development)
การพัฒนาสมาชิกในทีม คือการปรับปรุงและเพิ่มความรู้ ความเข้าใจ ทักษะต่างๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถปฏิบัติงานได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความรู้ในหน้างานหรือการเพิ่มความรู้ในเรื่องของความปลอดภัย
-
มีความคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking)
ความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องของการแก้ไข ปรับปรุง ให้หน้างานมีความปลอดภัยมากขึ้น หรือการทำKaizen ในพื้นที่ของตนเอง เป็นสิ่งที่ดี ที่หัวหน้างานทุกคนควรมี เพราะนอกจากเป็นการปรับปรุงพื้นที่การทำงานของตนเองให้ดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้นด้วยเช่นกัน
-
ไม่ถือตัวและให้เกียรติลูกน้อง (Respectation)
การให้เกียรติ คือ การปฏิบัติต่อบุคคลอื่น โดยเคารพในสิทธิของผู้นั้น หาก จป.หัวหน้างาน ไม่ถือตัวและให้เกียรติลูกน้อง เมื่อมีปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงาน ลูกน้องก็จะกล้ามาปรึกษา ทำให้ปัญหานั้นได้รับการแก้ไข หากลูกน้องไม่กล้ามาปรึกษาหัวหน้างาน อาจทำให้ปัญหานั้น เกิดเป็นอุบัติเหตุขึ้นมาได้
สรุป
จป.หัวหน้างาน นอกจากจะทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับพนักงานในหน่วยงานแล้ว การที่จะเป็น จป.หัวหน้างานที่ดี ยังต้องมีคุณสมบัติตามที่กล่าวไป เพื่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ เพราะหากหัวหน้างานดี ลูกน้องก็จะกล้าเข้ามาปรึกษา หรือแจ้งปัญหา ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ไปได้ด้วยดี