ปจ1 หรือ ปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่ ปั้นจั่น (Crane) หมายความว่า เครื่องจักรที่ใช้ยกสิ่งของขึ้นลงตามแนวดิ่งและเคลื่อนย้ายสิ่งของเหล่านั้นในลักษณะแขวนลอยไปตามแนวราบซึ่งเรามักเรียกกันติดปากว่าเครน หรือ ปั้นจั่นชนิดเหนือศีรษะ หมายความว่า อุปกรณ์ผ่อนแรงมีลักษณะคล้ายล้อเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสิ่งของ โดยร้อยไว้กับเชือก โซ่ หรือลวดสลิง
ปั้นจั่นที่ต้องตรวจตามแบบ ปจ 1
ปจ.1 คือ รายการการตรวจสอบและทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์สำหรับปั้นจั่นเหนือศีรษะ ปั้นจั่นหอสูง และปั้นจั่นขาสูง (ปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่) ปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่หมายความว่าปั้นจั่นที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ควบคุมและเครื่องต้นกำลังอยู่ในตัวซึ่งติดตั้งอยู่บนหอสูงขาตั้งหรือบนล้อเลื่อนเช่น
- ปั้นจั่นแบบเหนือศีรษะ มีลักษณะเป็นสะพานที่เคลื่อนที่ได้ มีการใช้งานอย่างแพร่หลายและเป็นที่นิยมในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อช่วยในการเคลื่อนย้าย ยก สิ่งของที่มีน้ำหนักมาก และมีขนาดใหญ่
- ปั้นจั่นแบบขาสูง มีลักษณะคล้ายกับปั้นจั่นแบบเหนือศีรษะ แต่มีตัวสะพานที่วางอยู่บนขาของปั้นจั่น มักจะเห็นในงานก่อสร้าง
การตรวจสอบ ปจ1 ประจำวันก่อนการใช้งาน
ตรวจ ปจ 1 ก่อนการใช้งานเป็นหน้าที่ของพนักงานผู้ใช้งาน ซึ่งต้องทำการตรวจสอบก่อนการใช้งานเป็นประจำทุกวัน โดยการตรวจสอบมี 2 หัวข้อหลักด้วยกัน ได้แก่ การตรวจสอบก่อน on power ตรวจสอบด้วยสายตา โดยตรวจรายละเอียดดังนี้
- ตรวจสอบป้ายเตือน ป้ายอันตราย บนแผงสวิตช์
- ตรวจให้แน่ใจว่าไม่มีเศษวัสดุหรือสิ่งกีดขวางบนรางเครนหรือบนสะพานเครน
- ตรวจสอบสิ่งกีดขวางบนรางทั้งแนวขวางและแนวยาว
- สภาพการม้วนสลิงบนกว้าน ต้องไม่ไขว้ไปมา
- ตรวจสอบอุปกรณ์ช่วยยก เช่น โซ่ สลิง สลิงผ้าใบ ตะขอ มีร่องรอยการแตกชำรุด หรือเสียรูปไปจากปกติหรือไม่
- การตรวจสอบหลัง on power ตรวจสอบด้วยสายตา
- ทดสอบสัญญาณเสียงและสัญญาณไฟ
- ตรวจสอบชุดขอเกี่ยวและแผ่นกันสลิงตก
- ทดสอบการเคลื่อนที่ทุกทิศทาง กดปุ่มบังคับ ว่าเป็นไปในทิศทางที่กดหรือไม่
- กดทดสอบปุ่มหยุดฉุกเฉิน ว่าสามารถทำงานได้หรือไม่
- ทดสอบเบรค
- ทดสอบการทำงานของชุดอุปกรณ์เสริมความปลอดภัย ลิมิตสวิตช์ ทุกทิศทาง
ในการตรวจสอบก่อนการใช้งานประจำวัน หากพบว่ามีข้อบกพร่อง ชำรุด ต้องรีบแก้ไขทันที เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานของผู้ปฏิบัติงาน และเป็นการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น และนอกจากการตรวจสอบก่อนการใช้งานโดยผู้ใช้งานแล้วในบางสถานประกอบกิจการอาจกำหนดหัวข้อการทวนสอบซ้ำว่าพนักงานผู้ใช้งานทำการตรวจสอบหรือไม่โดยให้หัวหน้างานตรวจสอบการตรวจของพนักงานอีกครั้งเพื่อป้องกันการลืมหรือละเลยของผู้ใช้งานเอง
การตรวจสอบและทดสอบตามกฎหมาย
นอกจากการตรวจสอบก่อนการใช้งานประจำวันแล้ว ยังต้องมีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นตามประเภทและลักษณะของงาน ตามที่กำหนดไว้ใน ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น ตามที่กำหนดด้วย ซึ่งได้กำหนดไว้ดังนี้
-
ปั้นจั่นที่ใช้ในงานก่อสร้าง
- ขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนดไม่เกิน 3 ตัน ต้องทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุกๆ 6 เดือน
- ขนาดพิกัดยกมากกว่า 3 ตันขึ้นไป ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุกๆ 3 เดือน
- ที่ไม่มีรายละเอียดขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนดในการทดสอบให้นายจ้างทดสอบโดยใช้ขนาดพิกัดยกตามที่วิศวกรกำหนด
-
ปั้นจั่นที่ใช้งานอื่นๆ
- ขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนดตั้งแต่ 1 ตัน แต่ไม่เกิน 3 ตัน ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นปีละ 1 ครั้ง
- ขนาดพิกัดยกมากกว่า 3 ตัน แต่ไม่เกิน 50 ตัน ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุก 6 เดือน
- ขนาดพิกัดยกมากกว่า 50 ตันขึ้นไป ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุก 3 เดือน
- ที่ไม่มีรายละเอียดขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด ในการทดสอบให้ใช้ขนาดพิกัดยกตามที่วิศวกรกำหนด
ปั้นจั่นตามที่กล่าวมาที่หยุดใช้งานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
หรือปั้นจั่นที่มีการซ่อมแซมที่มีผลต่อ ความปลอดภัย ก่อนนำมาใช้งานใหม่ต้องทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น ซึ่งเมื่อมีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นแล้ว จะมีรายงาน ปจ 1 มีรายละเอียดดังนี้
- ข้อมูลรายการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์สำหรับปั้นจั่น โดยมีวิศวกรเครื่องกลวิชาชีพที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นผู้รับรอง
- ภาพถ่ายของวิศวกรขณะทดสอบ
- สำเนาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
ซึ่งรายงานการตรวจสอบและทดสอบดังกล่าวต้องเก็บไว้เป็นหลักฐานให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้
สรุป
ในการใช้งานปั้นจั่นหรือที่เราเรียกว่าเครนจำเป็นต้องตรวจสอบก่อนการใช้งานประจำวันเพื่อตรวจสอบสภาพความพร้อมเบื้องต้นก่อนการใช้งานและหากพบว่ามีความบกพร่องจะได้รีบดำเนินการแก้ไขนอกจากตรวจสอบก่อนการใช้งานประจำวันยังจำเป็นต้องทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นจามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของสถานประกอบกิจการเอง