เราจะมีวิธีการป้องกันอันตรายจากเสียงดัง จากการทำงาน
1. เสียงมีความดังเท่าไหร่ถึงจะเรียกว่าเสียงอันตราย
เสียงที่เป็นอันตราย หมายถึง เสียงที่ดังเกิน 85 เดซิเบลเอ ที่ทุกความถี่ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกาย และจิตใจได้ ซึ่งความหมายดังกล่าว องค์การอนามัยโลกได้ให้นิยามไว้
เดซิเบลเอ dB(A) คือสเกลของเครื่องวัดเสียงที่สร้างเลียนแบบลักษณะการทำงานของหูมนุษย์โดยจะกรองเอาความถี่ต่ำและความถี่สูงของเสียงที่เกินกว่ามนุษย์จะได้ยินออกไป
2. อันตรายจากเสียงดัง
เสียง เป็นสิ่งที่เราใช้ในการสื่อสาร พูดคุย หากเสียงเบาเกินไปเราก็จะไม่ได้ยิน และหากดังเกินไปก็จะมีอันตราย ซึ่งคนเราสามารถรับช่วงความถี่ของเสียงที่ 20 – 20,000 เฮิรตซ์ แต่ความถี่ที่มีความสำคัญ คือ ช่วงความถี่พูดคุย ที่ 500 – 2,000 เฮิรตซ์ ซึ่งผู้ที่มีโอกาสได้รับอันตรายจากเสียงดังมากกว่าปกติ คือผู้ที่ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมทอผ้า อุตสาหกรรมปั๊มโหละ หรือในเหมืองที่มีการระเบิดหิน งานขุด เจาะ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เซลล์ประสาทรับเสียงเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น ทำให้ความสามารถในการได้ยินเสียงลดลง ซึ่งหากมีการสัมผัสเสียงดังเป็นระยะเวลานาน และต่อเนื่อง ช่วงแรกอาจจะหูอื้อ หูตึง แต่นานไปก็จะกลายเป็นหูหนวก ส่งผลให้ไม่สามารถได้ยินเสียงและพูดคุยแบบปกติได้ ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันเกิดปัญหาเพราะไม่สามารถสื่อสารแบบคนปกติได้ และการได้รับเสียงดังยังส่งผลต่อจิตใจ ทำให้เกิดความหงุดหงิด รำคาญ ทำให้เสียสมาธิในการทำงานอีกด้วย ซึ่งอันตรายจากเสียงดังนั้นมีอยู่มากมาย เราสามารถศึกษาได้จากบทความโดยทั่วไป
3. การป้องกันอันตรายจากเสียงดัง
การป้องกันอันตรายจากเสียงดังอาจมีหลายวิธีแต่ในที่นี้ขอใช้หลักการป้องกันอันตรายจากแหล่งกำเนิด(Source) ทางผ่าน (Path) และตัวผู้ปฏิบัติงาน (Receiver) โดยมีรายละเอียดดังนี้
- การป้องกันอันตรายจากแหล่งกำเนิด (Source) คือการใช้วิธีการทางด้านวิศวกรรมโดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบหากเครื่องจักรถูกออกแบบมาอย่างถูกต้องตามหลักของความปลอดภัยก็จะไม่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานเช่นออกแบบให้เครื่องจักรมีวัสดุดูดซับเสียงติดตั้งในพื้นที่มั่นคงเพื่อลดความสั่นสะเทือนหรือใช้วิธีการให้เครื่องจักรทำงานอัตโนมัติในห้องเก็บเสียงที่ไม่ต้องมีผู้ปฏิบัติงานอยู่ภายในเป็นต้นซึ่งวิธีการทางด้านวิศวกรรมถือว่าเป็นวิธีป้องกันอันตรายจากเสียงดังที่มีประสิทธิภาพสูงแต่ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงด้วยเช่นกัน
- การป้องกันอันตรายจากทางผ่าน (Path) คือการใช้การควบคุมทางด้านบริหารจัดการเช่นการเพิ่มระยะทางระหว่างแหล่งกำเนิดของเสียงกับตัวผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับเสียงดังที่น้อยลง
- การป้องกันอันตรายที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน (Receiver) คือการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล PPE ซึ่งอุปกรณ์ PPE ที่ใช้สำหรับป้องกันอันตรายจากเสียงดังได้แก่ที่อุดหูลดเสียง (Earplugs) และที่ครอบหูลดเสียง (Earmuff) อยู่ที่ลักษณะของเสียงในพื้นที่การทำงานว่าควรเลือกใช้อุปกรณ์ชนิดใดแต่การใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยต้องอบรมให้ความรู้กับผู้ปฏิบัติงานถึงวิธีการใช้งานที่ถูกต้องการทำความสะอาดและการเก็บรักษาอุปกรณ์ความปลอดภัยด้วย
ซึ่งหลักในการป้องกันอันตรายจากเสียงดังอาจใช้วิธีที่เหมาะสมกับสถานประกอบกิจการโดยอาจใช้หลายๆวิธีร่วมกันเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายสูงสุด
4. การตรวจวัดระดับเสียงในพื้นที่การทำงาน
การตรวจวัดระดับเสียงในพื้นที่การทำงาน เพื่อเป็นการเฝ้าระวังอันตรายจากเสียงดังที่ผู้ปฏิบัติงานอาจได้รับ หากเรามีการตรวจวัดระดับเสียง จะได้รู้ว่าพื้นที่การปฏิบัติงานมีปัญหาเรื่องเสียงหรือไม่ หากพบว่ามีเสียงดังเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จะได้รีบหาทางแก้ไขและป้องกัน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งระดับเสียงตามที่กฎหมายกำหนด สามารถดูได้จาก ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานความเข้มของแสงสว่าง
การตรวจวัดระดับเสียงในสถานประกอบกิจการต้องทำการตรวจวัดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งและต้องตรวจวัดในสภาพที่เป็นจริงความสูงระดับหูของผู้ปฏิบัติงานและนอกจากจะต้องตรวจวัดประจำปีแล้วในกรณีที่มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรกระบวนการผลิตวิธีการทำงานหรือการดำเนินการที่อาจส่งผลให้ระดับเสียงเปลี่ยนแปลงไปต้องตรวจวัดและวิเคราะห์ผลภายใน 90 วันที่มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงด้วย
โดย จป.วิชาชีพหรือ จป.ระดับอื่นของบริษัท ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและมีเครื่องมือตรวจวัดระดับเสียงที่ได้รับการปรับเทียบและสามารถแสดง Serial number ของเครื่องได้สามารถตรวจวัดระดับเสียงในบริษัทของตนเองได้แต่หากไม่สามารถดำเนินการเองได้ก็สามารถใช้บุคคลหรือนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการแทนได้
และหากพบว่าเสียงที่ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงตั้งแต่ 85 เดซิเบลเอขึ้นไปต้องจัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการด้วยซึ่งวิธีการจัดทำสามารถดูได้จากประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการ
5. การตรวจสุขภาพลูกจ้างที่ทำงานกับเสียงดัง
นอกจากการตรวจวัดระดับเสียงในพื้นที่การปฏิบัติงานเพื่อเป็นการเฝ้าระวังแล้ว ยังต้องมีการตรวจสมรรถภาพการได้ยินของผู้ปฏิบัติงาน (Audiography) เพื่อดูว่าสมรรถภาพการได้ยินเป็นอย่างไร ยังปกติอยู่หรือไม่ โดยจะตรวจที่ความถี่ต่างๆ ตั้งแต่ระดับพูดคุย จนถังระดับที่ไม่ได้ยินในชีวิตประจำวันหรือคนทั่วไปไม่ได้รับสัมผัส ซึ่งการตรวจสมรรถภาพการได้ยิน ต้องตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
สรุป
เสียง เป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะต้องใช้ในการสื่อสาร แต่หากมีความดังเกินไป ก็ส่งผลต่อสมรรถภาพการได้ยินด้วยเช่นกัน จึงจำเป็นต้องมีการตรวจวัดและวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อเป็นการเฝ้าระวังในด้านของสภาพแวดล้อม หากพบว่าเสียงที่ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง มีความดังตั้งแต่ 85 เดซิเบลเอขึ้นไป ต้องจัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการด้วย นอกจากตรวจวัดเสียงในพื้นที่การทำงานแล้วจะต้องตรวจสมรรถภาพการได้ยินของผู้ปฏิบัติงาน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อดูว่าการได้ยินยังคงปกติหรือไม่ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน